ดีปลากั้ง

ดีปลากั้ง

ชื่อวิทยาศาสตร์           Phlogacanthus pulcherrimus T. Anderson

ชื่อสามัญ                  –

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ใบดีปลากั้ง เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-16 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมันมีเส้นแขนงใบมองเห็นได้ชัดเจนส่วนล่างใบมีสีอ่อนกว่า และมีก้านใบยาวประมาณ 1-3 ซม.

ดอก ออกเป็นช่อ แบบช่อเชิงลดโดยจะออกบริเวณปลายยอดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปโคนโท มีสีม่วงอมแดงปลายแยกเป็น 5 แฉก ส่วนหลอดกลีบพองออกด้านเดียว และมีกลีบเลี้ยง มีสีเขียว รูประฆัง ยาว 5 มม.

ผล เป็นแบบแคปซูล ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร เมื่อแห้งผลจะแตกส่วนเมล็ดจะเกิดที่ช่วงปลายของผล และจะมีที่ก้านตะขอดีดเมล็ด

สรรพคุณ/ประโยชน์ทางยา

ใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อยโดยใช้ใบดีปลากั้ง ตากแห้งบดเป็นผงใช้รับประทาน 1 ช้อนกาแฟ กับน้ำผึ้ง เช้า-เย็น ใช้เป็นยาบำรุง โดยใช้รากดีปลากั้ง รากตำยาน รากหัวเข่าคลอน รากไม้ด้ามขวานหัก รากไม้เอนอ้า ขนาดยาวประมาณนิ้วมือ อย่างละสามหรือห้าชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม ใช้เพื่อแก้คลายเครียด ลดเบาหวาน ทำให้เจริญอาหาร โดยใช้ยอดอ่อนมารับประทานสดกับน้ำพริก หรือ ลาบ แก้ปัสสาวะขัด ขับปัสสาวะโดยใช้ลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และแก้เบาหวาน โดยใช้ยอดและใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดหลังโดยนำยอดมานึ่งรับประทาน

 

– จักรภัทร เขียวดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผน –

แชร์เลย :