หูเสือ

หูเสือ

ชื่อวิทยาศาสตร์           Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.

ชื่อสามัญ                  Indian borage, French thyme, Country borage, Mexican mint, Spanish thyme, Oreille.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หูเสือ จัดเป็นไม้ล้มลุกมี อายุ 2-3 ปี สูงประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นอวบน้ำ หักได้ง่าย ลำต้นและกิ่งค่อนข้างกลม ต้นอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อแก่ขนจะค่อยๆหลุดร่วงไป ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน ออกตรงข้าม ใบรูปไข่กว้างค่อนข้างกลม หรือ รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ใบกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3-8 เซนติเมตร ใบขยี้ดมมีกลิ่นหอมฉุน ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ขอบใบจักเป็นคลื่นมนรอบๆใบ ใบหนา อวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก ก้านใบยาว 2-4.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร อยู่ตามปลายกิ่ง หรือ ยอด ดอกย่อยติดหนาแน่นเป็นวงรอบแกนกลาง เป็นระยะๆ มีขน ช่อหนึ่งๆ มีดอกประมาณ 6-8 ดอก ทยอยบานทีละ 1-2 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกสีม่วงขาว รูปเรือ ยาว 8-12 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 3-4 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรง มีขน กลีบล่างยาว เว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว 2-4 มิลลิเมตร มีขน และมีต่อม ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบนรูปไข่กว้าง ปลายแหลม แฉกข้างๆ รูปหอกแคบ แฉกล่างยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ใบประดับรูปไข่กว้าง ยาว 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม ก้านสั้น ผล มีเปลือกแข็ง เล็ก กลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร

สรรพคุณ/ประโยชน์ทางยา

ใบสดคั้นเอาน้ำมาหยอดหู แก้ปวดหู แก้พิษฝีในหู แก้หูน้ำหนวก บำรุงเลือดลม ให้ใช้รากหูเสือนำมาต้มกับน้ำกิน แก้ปวดฟัน ป้องกันฟันผุ ด้วยการนำรากหูเสือมาแช่กับน้ำธรรมดา แล้วนำมากินและอมบ่อยๆ ใบนำมาขยี้ดม จะช่วยแก้อาการคัดจมูกเนื่องจากหวัดได้ แก้อาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ระบุให้ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินครั้งละครึ่งแก้ววันละ 3 เวลา ต้มดื่มเรื่อยๆ หรือ ใช้ใบหูเสือ สดประมาณ 4-5 ใบ นำมาสับกับหมูไม่ติดมันให้ละเอียด ใช้ต้มกินแบบแกงจืด ใส่เกลือป่น โดยให้กินทั้งน้ำ และเนื้อ 2 มื้อ เช้าและเย็น ส่วนตำรับยาแก้ไอในเด็ก ระบุให้นำใบหูเสือมานวดกับเกลือ คั้นเอาน้ำใส่ช้อนทองเหลืองอุ่นให้เดือด แล้วนำมาให้เด็กกิน ช่วยขับลม แก้อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อยโดยใช้ยางจากใบใช้ผสมกับน้ำตาลกิน ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กินหลังคลอดจะช่วยขับน้ำคาวปลา แก้อาการท้องอืดในเด็กโดยนำต้นและใบนำมาขยี้ใช้ทาท้องเด็ก ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบหูเสือมาล้างให้สะอาด ตำแล้วนำมาโปะตรงที่เป็นแผล จะช่วยทำให้แผลไม่เปื่อย ไม่พอง และไม่ลุกลาม ใบนำมาคั้นเอาใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง แผลที่มีน้ำเหลือง น้ำหนอง หรือ เป็นตุ่มพุพอง ใบนำมาขยี้ทารักษาหิด ไปใช้ภายนอกนำมาขยี้ทาหรือใช้เป็นยาพอกแก้แมงป่องต่อย ตะขาบกัด ช่วยรักษาอาการบวม โดยใช้ใบตำพอกแก้ปวดข้อ

 

– จักรภัทร เขียวดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผน –

แชร์เลย :