ว่านนพเก้า

ว่านนพเก้า

ชื่อวิทยาศาสตร์        Jatropha multifida L.

ชื่อสามัญ                  Coral plant

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ว่านนพเก้ามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าฝิ่นต้น จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นกึ่งอวบน้ำและมีรอยแผลใบรอบต้นคล้ายต้นมะละกอ แต่มีขนาดเล็กและเป็นแกนแข็งกว่า โดยลำต้นสามารถสูงได้ประมาณ 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา มียางสีในหรือออกขาวขุ่น ส่วนรากมีลักษณะเป็นหัว ใบออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ โดยมักเวียนถี่ตามปลายกิ่ง ลักษณะคล้ายรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 15–35 เซนติเมตร ขอบใบเว้าลึกถึงกลางใบ คล้ายฝ่ามือ ขอบแผ่นใบเว้าเป็นพูลึกเข้าหาโคนใบ 9–12 พู พูตรงกลางใหญ่กว่าและยาวกว่าพูด้านข้าง พูรูปคล้ายใบหอกกว้างได้ถึง 8 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ขอบพูมีทั้งเรียบ หรือ จักลึกแบบขนนก ปลายพูแหลม โคนใบเว้าแหลมหรือเว้ารูปหัวใจ เส้นแขนงใบออกจากโคนใบไปหาปลายพู ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวล ก้านใบยาว 10–30 เซนติเมตร ติดกึ่งใต้แผ่นใบ หูใบเป็นแฉกเรียวเป็นง่ามคล้ายเส้นหลายแฉกยาว 1–2 เซนติเมตร ปลายแฉกมีขน ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่น และช่อดอกอาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร แบนแน่นติดกัน โดยจะออกดอกที่ปลายกิ่ง หรือ ตามซอกใบใกล้ๆ ยอด และมีก้านช่อดอกยาวได้ถึง 23 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศรวมช่อ มีขนาดเล็กติดกันแน่น ลักษณะของดอกเพศผู้สีแดงคล้ำ กลีบเลี้ยงในดอกเพศผู้จะมี 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับกว้าง 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกแยกจากกัน เป็นรูปของขนานแกมรูปไข่กลับกว้าง 2-5 มิลลิเมตร ยาว 5-7 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้มี 8 อัน ส่วนดอกเพศเมียรูปร่างคล้ายดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีสีแดงสดกลีบดอกยาวได้ถึง 9 มิลลิเมตร รังไข่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ดก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ผล แบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กลับ มี 3 พู และผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5–3 เซนติเมตร สุกสีเหลือง ผลดิบสีเขียว เมล็ด รูปทรงรีแกมรูปไข่ ถึงเกือบกลม กว้าง 0.5–1.5 เซนติเมตร ยาว 1–2 เซนติเมตร

สรรพคุณ/ประโยชน์ทางยา

แก้ลม

แก้โลหิต

แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย

แก้ปวดเส้นเอ็น

แก้ท้องร่วง

แก้บิดปวดเบ่ง

แก้อาเจียน

แก้ลงแดง

ช่วยย่อยอาหาร

แก้โรคลำไส้

เป็นยาถ่าย กำจัดพยาธิผิวหนัง

แก้เหา

ใช้สมานแผล

ช่วยคุมธาตุ

บำรุงกำลัง

แก้ท้องเดิน

ใช้แก้โรคลำไส้ ช่วยย่อยอาหารโดยการใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้คุมธาตุ แก้ปวดเส้นเอ็น ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ลมและโลหิต แก้บิดปวดเบ่ง แก้ท้องร่วง ลงแดง แก้อาเจียน โดยใช้เปลือกฝิ่นต้น ต้นตากให้แห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาถ่าย โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้สมานแผล แผลปากเปื่อยโดยใช้ยามาทาบริเวณที่เป็น (แต่อาจทำให้เกิดอาการแพ้บวมแดงได้ในบางราย)

 

– จักรภัทร เขียวดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผน –

แชร์เลย :